Search

โควิด-19: นับถอยหลังสู่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับลมหายใจที่รวยรินของภูเก็ต - บีบีซีไทย

frita.prelol.com
  • สมิตานัน หยงสตาร์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

เก้าอี้ชายหาดที่ว่างเปล่าบนชายหาด

ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมที่น่าจะได้รับทั้งผลดีและความเสี่ยงจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 ก.ย. อนุมัติในหลักการให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้โดยการออกวีซ่าประเภทพิเศษ ตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

มติ ครม. ไฟเขียวรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชุดแรกด้วยการออกวีซ่าพิเศษที่เรียกว่า Special Tourist VISA (STV) สำหรับผู้ที่มาพำนักระยะยาว (long stay) ในไทย มีขึ้นไม่นานหลังจากที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอต่อที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชุดแรกหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หรือที่เรียกว่า "ภูเก็ตโมเดล" เพื่อรองรับการท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้าย (ต.ค.-ธ.ค. 2563)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดและเตรียมออกประกาศเรื่องการขอวีซ่า STV ซึ่งมติ ครม.ระบุว่าโครงการนี้จะมีผลไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 หรือเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยนักท่องเที่ยวที่ได้รับวีซ่าประเภทพิเศษนี้ จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน ต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน รวมระยะเวลาพำนักอยู่ในไทยสูงสุด 270 วัน

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักเมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) ว่าหากไทยประกาศรายละเอียดการขอวีซ่า STV อย่างชัดเจน น่าจะมีเศรษฐีจากต่างประเทศสนใจเดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก และ ททท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 1,200 คนต่อเดือน สร้างรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อเดือน

ขณะนี้ จังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่งต่างเร่งเตรียมความพร้อมและนับถอยหลังสู่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 บีบีซีไทยสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่และคนในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตว่าเตรียมความพร้อมและมีข้อกังวลอะไรบ้าง

หาดกมลา จ.ภูเก็ต

มุ่งเป้าชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาว

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าเศรษฐกิจของภูเก็ตนั้นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมาโดยตลอด การที่ปิดน่านฟ้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจากสถานการณ์โรคระบาดจึงส่งผลต่อปากท้องของคนในพื้นที่อย่างมากเนื่องจากไม่เกิดเงินสะพัดในจังหวัด

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองเล่าว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามปรับตัวเพื่อรับนักท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการวางมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่เกิดผล

"เราได้ทดลองไทยเที่ยวไทยมา 3 เดือนแล้ว แต่เห็นว่าคนไทยมาเที่ยวภูเก็ตน้อยมาก ทำให้การฟื้นตัวในภูเก็ตยังเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องหาช่องทางอื่นเสริม" และนั่นจึงเป็นที่มาของ "ภูเก็ตโมเดล" นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองกล่าว

เธออธิบายว่าภูเก็ตโมเดลนั้นจะเริ่มต้นที่การเปิดรับเฉพาะชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักระยะในภูเก็ต เช่น ชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทย เป็นผู้เช่าซื้อที่พักอาศัย รวมไปถึงบรรดานักเรียนนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางออกนอกประเทศก่อนการปิดน่านฟ้า ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้

น.ส.เฉลิมลักษณ์กล่าวต่อว่า ชาวต่างชาติทั้งหมดที่จะเข้ามานั้นต้องผ่านการตรวจเชื้อจากประเทศต้นทาง เข้าสู่สถานที่กักตัวในสถานที่ที่เจ้าหน้าที่รับรอง และตรวจเชื้อตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด

สำหรับการเตรียมความพร้อมของทางจังหวัดนั้น เบื้องต้นมีการทดลองรับนักท่องเที่ยวจำนวนกว่าสิบคนเข้ามาทดลองระบบดังกล่าวนี้แล้ว เพื่อดูว่าสามารถปฏิบัติจริงตามกติกาที่ตกลงกันได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ศูนย์การค้าจังซีลอน

แต่เธอยอมรับว่าการทดลองรับนักท่องเที่ยวจำนวนน้อย ๆ อาจทำให้มองไม่เห็นปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์จริงถ้าเกิดว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาเยอะกว่านี้

น.ส.เฉลิมลักษณ์กล่าวว่า ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังสนามบินนานาชาติภูเก็ตให้เหมาะสมกับความพร้อมและศักยภาพในการคัดกรองและตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ท่าอากาศยาน

"ทุกเรื่องมันไม่มีเห็นไปทิศทางเดียวทั้งหมด เรื่องนี้ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนภูเก็ตก็ต้องคำถามตัวเองว่า ถ้าเราไม่เปิดเอาชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยเข้ามาบ้าง เราจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาภูเก็ตเลี้ยงตัวเองได้ด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ"

เธอเสนอแนะว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำในขณะนี้คือการสร้างความเข้าใจกับคนท้องถิ่นให้ลดความกังวลลง

"เรายังต้องทำความเข้าใจกับคน ให้เขาคลายความกังวลลงกว่านี้หน่อย เพราะช่วงนี้คนยังไม่เข้าใจ ความกังวลเขาเยอะ ถ้าเราเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาในช่วงที่คนกำลังไม่สบายใจอย่างนี้ ดิฉันว่าไม่ดี ไม่เป็นปะโยชน์กับเมือง…ภูเก็ตไม่ได้เร่งว่าต้องเริ่มตอนไหน เราพร้อมเมื่อไหร่ก็จะทำเมื่อนั้น"

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองย้ำว่าการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมายังมีความจำเป็นสำหรับการอยู่รอด ของภูเก็ต และยอมรับว่าขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "อ่อนแรง" ลงทุกที เพราะเมื่อประชาชนตกงานขาดรายได้ การเก็ยภาษีในท้องถิ่นก็แทบจะทำไม่ได้เลย

นักท่องเที่ยว "ลองสเตย์" ไม่ใช่ลูกค้า

ประดับ โกสิยานันท์ เจ้าของร้านอาหารบริเวณหาดสุรินทร์ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้ข้อมูลว่าชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวไม่ใช่กลุ่มหลักที่จะสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพราะคนกลุ่มนี้มักใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่น อยู่ที่ภูเก็ตเหมือนเป็นบ้านหลังหนึ่ง ไม่ใช่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอยเหมือนนักท่องเที่ยว

"เขารู้ว่าจะกินอะไรราคาเหมือนคนไทย อย่างนักศึกษาต่างชาติที่มาอยู่ เขาก็กินไก่ทอด ข้าวเหนียวตามรถเข็นเลย คนกลุ่มนี้อยู่ได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้มาฟื้นเศรษฐกิจ"

นายประดับบอกว่านับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มีผู้ประกอบการร้านอาหารตามแนวหาดสุรินทร์ล้มเลิกกิจการไปแล้วไม่น้อยแล้ว ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนต่างชาติ เพราะรายได้หลักของธุรกิจที่นี่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เขาไม่มั่นใจนักกว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะช่วยชุบชีวิตการท่องเที่ยวของภูเก็ตขึ้นมาได้ เพราะระเบียบเรื่องการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน และมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ที่ยังคงบังคับใช้อาจทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าท่องเที่ยวไม่ได้เต็มที่ และเลือกที่จะยังไม่เดินทางมา

นโยบายเที่ยวในประเทศไม่ตอบโจทย์

นายนุชา เพ็ชรวิมล ประธานชมรมเจ็ตสกีหาดป่าตอง เป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอีกคนหนึ่งในภูเก็ตที่ไม่มีรายรับมากว่า 8 เดือนแล้วนับตั้งแต่มีการปิดจังหวัด แม้ตอนนี้จะผ่อนคลายให้กลับมาดำเนินกิจการได้ก็ไม่เป็นผล เพราะกว่า 95% ของลูกค้าของเขาเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายนุชาเล่าว่าในแต่ละวันแทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย ผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงจำใจต้องปิดกิจการไปชั่วคราว เพราะหากเปิดต่อไปก็ต้องแบกรับต้นทุนค่าดำเนินการทั้งค่าจ้าง ค่าน้ำมันสำหรับจูงเรือไปหน้าหาด ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะมีลูกค้าสักรายหรือไม่

"โอย...เขาขายทิ้งกันเยอะแยะ เอาไปเลยไม่ไหวแล้ว เจ็ตสกีที่จอดทิ้งไว้นาน ๆ มันก็พัง ถ้าจะกลับมาทำต่อก็ต้องซ่อมต้องดูแลกันอีกรอบ"

ในฐานะที่ประกอบกิจการท่องเที่ยวมายาวนาน นายนุชามองว่า รัฐบาลไม่ได้ศึกษาศักยภาพของเมืองท่องเที่ยวแต่ละแห่งอย่างแท้จริง อย่างการออกนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศนั้นจะเกิดผลเฉพาะกับเมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก

"จังหวัดที่ได้อานิสงส์จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาลคือพัทยา ชลบุรี ประจวบฯ หัวหิน ชะอำ ที่คนขับรถไป-กลับกรุงเทพฯ ได้ แต่ภูเก็ตมันไกล ไม่มีใครมา ถ้าจะได้ก็เพื่อนบ้านใกล้ ๆ อย่างกระบี่ พังงา"

เขากล่าวว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักกว่าที่อื่น เพราะส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพหลักและไม่มีอาชีพอื่นเสริมอย่างทำสวนยางหรือเกษตรกรรมเหมือนคนในจังหวัดอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อการท่องเที่ยวชะงักก็เหมือนหมดทางไปต่อ

เสนอขยายอายุวีซ่า

กว่า 80% ของลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านของศิวรินทร์ เผ่าทองงาม ในตัวเมืองภูเก็ต เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อคนกลุ่มนี้หายไปเขาจึงต้องหยุดกิจการมานานกว่า 5 เดือน จนท้ายที่สุดต้องตัดสินใจย้ายร้านเพื่อลดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่

ตอนนี้ร้านอาหารของเขามีลูกค้าเป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวเป็นหลัก

"เราไม่คาดหวังนักท่องเที่ยวเลย อาหารเราสไตล์ฝรั่ง พอย้ายร้านมาก็ยังดีที่ลูกค้าเดิมตามมาทั้งคนไทยและคนต่างชาติอยู่นาน ๆ นักศึกษาก็พอมีอยู่บ้าง"

จุดชมพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ

นายศิวรินทร์ได้พูดคุยกับลูกค้าชาวต่างชาติหลายคนซึ่งพบปัญหาคล้ายกันว่าวีซ่าใกล้หมดอายุ แม้รัฐบาลจะให้ต่ออายุไปแล้วช่วงก่อนหน้า

"ชาวต่างชาติที่อยู่ที่นี่นาน ๆ เริ่มกังวลว่าถ้าต้องออกไปต่อวีซ่าที่มาเลเซีย แล้วจะกลับเข้ามาไม่ได้ กลุ่มนี้มีเยอะนะ ส่วนใหญ่เขาได้เงินบำนาญจากรัฐบาล ถ้าคนกลุ่มนี้ออกไปอีก (ภูเก็ต) คือไม่เหลืออะไรเลย"

นายศิวรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกลุ่มที่มีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว กรณีผู้ถือวีซ่าคนทำงานอย่างครูสอนภาษาก็เป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน ทำให้เขามองว่าการต่ออายุวีซ่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องเข้ามาดูแล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไปด้วย โดยยังไม่ต้องมองไปถึงการรับนักท่องเที่ยวใหม่เสียด้วยซ้ำ

ในส่วนของภูเก็ตเองก็ควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับแก้ไขมาเนิ่นนานนั่นคือการขาด "ราคามาตรฐาน" ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเอาเปรียบ กลายเป็นภาพจำที่ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเลือกไปเที่ยวเมืองชายทะเลที่อื่นในประเทศเพื่อนบ้านแทนอย่างเช่นบาหลีและดานัง

นายศิวรินทร์ทิ้งท้ายว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาสที่ภูเก็ตจะปรับปรุงมาตรฐานธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดเสียใหม่ ทั้งเรื่องมาตรฐานราคา การให้บริการ รวมถึงทัศนคติของผู้ประกอบการและผู้ให้บริการ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในอนาคต

Let's block ads! (Why?)



"ได้รับ" - Google News
September 17, 2020 at 11:05AM
https://ift.tt/3mxY4yq

โควิด-19: นับถอยหลังสู่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับลมหายใจที่รวยรินของภูเก็ต - บีบีซีไทย
"ได้รับ" - Google News
https://ift.tt/3ef9hjd
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2WCZ5cb

Bagikan Berita Ini

0 Response to "โควิด-19: นับถอยหลังสู่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับลมหายใจที่รวยรินของภูเก็ต - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.