
งบลับคืออะไร คำถามนี้ค้างคาใจคนไทยที่ติดตามเรื่องงบลับมายาวนานหลายทศวรรษ คนที่ไม่มีปัญญาได้ลิ้มรสงบลับก็พากันตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าได้แต่ถาม เพราะไม่เคยมีคำตอบชัดเจนกลับคืนมาสักครั้ง
ในมุมตรงกันข้าม คนที่ได้รับงบลับเป็นประจำ ก็ไม่เคยแพร่งพรายขยายความเรื่องนี้ให้กระจ่าง แต่ทว่าทุกๆ เดือน คนกลุ่มนี้ก็จะมีเงินจากงบลับไหลเข้าบัญชีธนาคารเป็นประจำ ซึ่งจะได้รับมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงบลับ ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า งบลับนั้นมิได้หมายความว่าจะได้รับกันทุกคน ต่อให้อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน บางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ แล้วที่ได้รับนั้นก็ไม่ได้รับเท่าเทียมกันทุกคนส่วนเรื่องงบลับถูกหน่วยเหนือบางหน่วยดูดกลับไปเพื่อบำรุงกระเพาะของคนบางคนนั้น ก็เป็นเรื่องที่คนซึ่งได้รับงบลับต่างรู้กันดี แต่ก็ไม่อยากพูดถึง เพราะกลัวเจ็บตัว และกลัวอดงบลับ
นิยามคำว่างบลับ หรือเงินราชการลับ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 72 ก ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2545
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 15(14) และมาตรา 40 ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ พ.ศ.2545 (ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 119 ตอนที่ 72 ก ลงวันที่ 29 ก.ค. 2545)โดยให้นิยามเงินราชการ “ลับ” ไว้ดังนี้
เงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับ หมายถึง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กำหนดให้เป็นเงินราชการลับ หรือที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ หรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายดำเนินงานในลักษณะปกปิด เพื่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี
ขอให้คุณอ่านคำนิยามงบลับซ้ำหลายๆ เที่ยว แล้วจะพบว่ายิ่งอ่านยิ่งงง แต่จะยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่า งบลับเกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี มิหนำซ้ำยังพบว่างบลับเป็นงบที่เข้าข่ายมืดดำปกปิด ไม่มีใครกำหนดเรื่องการตรวจสอบงบลับไว้ หรือพูดง่ายๆ คืองบลับไม่ต้องถูกตรวจสอบ แต่ที่สำคัญคือดูเสมือนมีการเปิดช่องว่างช่องโหว่ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดเงินที่ไม่ใช่เงินราชการลับ แต่ยังสามารถนำไปใช้จ่ายในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นได้อีกด้วย
วิญญูชนที่ติดตามเรื่องงบลับตั้งข้อสังเกตมานานว่า วงเงินงบลับของราชการนั้นมักจะตั้งกันไว้ในจำนวนที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนักในแต่ละปีงบประมาณ เช่น ตัวอย่างชัดๆ งบลับของกองทัพบกตั้งไว้จำนวน 190 ล้าน 4 หมื่น 6 พันล้านบาท ซึ่งหากดูแล้วจะพบว่างบลับตั้งแต่ปี 2556-2562ก็มีจำนวนประมาณนี้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ไม่เคยมีเงินงบลับกลับคืนไปเข้าคลังหลวงเลยแม้แต่ปีเดียว แล้วก็เคยมีหนังสือเวียนจากกระทรวงการคลังกำหนดว่า เมื่อเบิกงบลับไปแล้ว แต่ใช้จ่ายไม่หมด จะต้องนำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง หรือธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ห้ามนำไปฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ใดๆ เพื่อหาดอกผล
แต่ประกาศของกระทรวงการคลัง ก็เป็นเพียงประกาศ เพราะหาคนปฏิบัติจริงได้ยากเย็นมาก ดังนั้นธนาคารพาณิชย์บางแห่งจึงได้เข้าไปดูแลเงินงบลับไปโดยปริยาย เพราะคนที่นำเงินงบลับไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ก็จะได้รับผลประโยชน์กลับคืนอย่างน่าพึงพอใจ
มีคำถามอีกว่า ประเทศจำเป็นต้องมีงบลับหรือไม่คำตอบคือ จำเป็นต้องมีงบลับ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปจนช่วงเวลาหนึ่งแล้ว จำเป็นต้องเปิดเผยงบลับให้ปรากฏชัด จะอ้างความเป็นงบลับแล้วอมพะนำไม่บอกไม่กล่าวกับสาธารณชนไม่ได้แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว งบลับก็คือความลับ แต่เป็นความลับที่ทำให้คนบางกลุ่มบางพวกอ้วนพี อิ่มหมีพีมัน และกลายเป็นแหล่งเงินแหล่งทองที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ขอย้ำยืนยันว่า เมืองไทยไม่เคยมีการทำเรื่องการใช้จ่างงบลับให้โปร่งใสเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้งบลับของประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพดังนั้นเรื่องสำคัญและจำเป็นนี้จึงเป็นความลับไปตลอดกาล ยกเว้นคนที่ได้รับงบลับเท่านั้นที่รู้ดี
ยิ่งมารัฐบาลในยุคหลังๆ ก็พยายามจะบอกว่าไม่มีงบลับแต่ก็ได้แต่พูดไป เพราะพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ก็จะให้เชื่อได้อย่างไร เพราะผู้ที่พยายามพูดเรื่องนี้ยังไม่เชื่อเลย เพราะทุกวันนี้คนจำนวนหนึ่งในหน่วยราชการหลายแห่งก็ปากเป็นมัน เพราะได้รับงบลับเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือน ดังนั้นรัฐบาลในยุคหลังๆ จึงใช้คำว่า เงินทุนสำรองจ่าย แทนคำว่างบลับ แต่ถึงกระนั่นก็ยังไม่มีการระบุชัดๆ ว่าเงินทุนสำรองจ่ายจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้นใช้เพื่อการใดเป็นการเฉพาะเจาะจง คือไม่เคยบอกให้ชัดว่านำเงินทุนสำรองไปทำหรือใช้อะไร แล้วก็สรุปแบบตีขลุมว่า ไม่มีเงินราชการลับ เพราะเงินทุนสำรองจ่ายไม่ใช่เงินราชการลับ
แม้กระทั่งรัฐบาลคสช. ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังเคยตราพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายจากส่วนราชการต่างๆ ไปเพิ่มในงบสำรองเพื่อกรณีจำเป็นเร่งด่วน แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่สามารถทำได้ตามหลักกฎหมายวิธีการงบประมาณ แต่ก็ทำไปแล้ว ดังนั้นหากย้อนกลับไปดูจะพบว่ามีเงินในงบสำรองเพื่อกรณีจำเป็นเร่งด่วนจำนวนมหาศาล หรือที่บางคนเรียกว่างบกลางมีมากมายมหาศาลมาก แล้วก็พบว่างบก้อนนี้มีมากจนใช้จ่ายไม่หมดภายในกำหนดปีงบประมาณของปีนั้นๆ จนต้องกันเงินรายจ่ายงบกลางไว้สำหรับใช้จนถึงวันสิ้นงบประมาณ 2563
คนที่ติดตามเรื่องงบลับ หรือเงินทุนสำรองตามที่รัฐบาลเรียกนั้น เคยตั้งคำถามว่า การทำเช่นนั้นเข้าข่ายการใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีเพื่อจงใจบิดเบือน เพื่อหวังนำเงินไปใช้ในลักษณะของเงินราชการลับหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าได้มีคำนิยามเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมให้เป็นเงินราชการลับ หรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายในลักษณะปกปิด
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยืนยันว่า งบราชการลับยังมีความจำเป็นและสำคัญ แต่การใช้เงินราชการลับจะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อเวลาผ่านพ้นไปช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ทุกๆ 15 ปี หรือทุกๆ 20 ปี เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ว่าเงินราชการลับถูกนำไปใช้เพื่อกิจการใด แล้วสังคมได้ประโยชน์อย่างไร
ทุกวันนี้ แม้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่มีการตั้งรายการเงินราชการลับไว้ในงบประมาณร่ายจ่ายงบกลาง และในงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการ หรือที่รู้จักในนามงบประจำ แต่ก็ต้องบอกว่าเงินราชการลับ หรืองบลับยังคงมีอยู่เหมือนเดิม โดยงบลับจะถูกนำไปตั้งไว้ในงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเป็นของส่วนราชการต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องมีเงินราชการลับ ส่วนวงเงินจะมากหรือน้อยนั้นก็ว่ากันไปตามหน่วยงาน แต่รับรองว่าเงินราชการลับของกระทรวงกลาโหมที่ตั้งไว้ในแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล
เท่าที่พอจะทราบข้อมูลคือเงินราชการลับที่กำหนดไว้ในแต่ละปีงบประมาณ โดยเฉพาะของกองทัพบกคือ 190 ล้านบาทเศษ ซึ่งตัวเลขนี้ค่อนข้างจะคงตัวมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ที่ต้องย้ำก็คือไม่เคยมีการคืนเงินงบลับกลับไปยังกระทรวงการคลังเลย
คำถามคืองบลับถูกนำไปใช้ทำกิจการใด กิจการนั้นให้ผลประโยชน์ต่อสาธารณะมากน้อยเพียงใด แน่นอนว่างบลับจำเป็นสำหรับความมั่นคงของประเทศ แต่ก็ขออย่าแค่อ้างความมั่นคงของประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากงบลับโดยที่ประเทศไม่ได้มีความมั่นคงมากขึ้น
สิ่งที่สาธารณชนต้องการเห็นคือ มีการใช้เงินงบลับอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับกฎหมายวิธีงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้บังเกิดความโปร่งใสให้มากที่สุด และสมควรจะต้องรายการการใช้งบลับให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ เมื่อวันเวลาผ่านไปอย่างเหมาะสม เช่น ต้องรายงานการใช้งบลับทุกๆ 15 ปี หรือ 20 ปี เพื่อให้งบลับได้ถูกเปิดเผยว่าถูกใช้ไปเพื่อกิจการใด แล้วนำประโยชน์มาสู่บ้านเมืองสถานใด
"ได้รับ" - Google News
May 31, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/2XhbOmn
คอลัมน์การเมือง - งบลับ ใครรับ รับตอนไหน ทำไมได้รับ แล้วทำไมไม่เปิดเผย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"ได้รับ" - Google News
https://ift.tt/3ef9hjd
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2WCZ5cb
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์การเมือง - งบลับ ใครรับ รับตอนไหน ทำไมได้รับ แล้วทำไมไม่เปิดเผย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment