Search

การบินไทย : สายการบินแห่งชาติต้อง "บิน" ผ่านอะไรบ้างในการฟื้นฟูกิจการ - บีบีซีไทย

frita.prelol.com

มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าจะช่วยให้สายบินแห่งชาติวัย 60 ปีกลับมาแข็งแกร่งเหมือนในอดีต แต่ยังมี ปัจจัยความเสี่ยงและความท้าทายหลากหลายอย่างที่รออยู่เบื้องหน้า

ขณะที่การฟื้นฟูกิจการอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี เช่นเดียวกับหลายบริษัทที่เคยเข้าสู่กระบวนการนี้ อะไรคือความเสี่ยง ความท้าทาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว

บีบีซีไทย รวบรวมประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ เพื่อความเข้าใจถึงขั้นตอนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ธุรกิจการบินของไทย

ทำไมการบินไทยต้องพึ่งศาลล้มละลาย

ก่อนที่ ครม. จะมีมติเมื่อ 19 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ได้ให้เวลาการบินไทย กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กระทรวงการคลัง ในการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ มาเป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ และเขาจะให้โอกาสการบินไทยเป็น "ครั้งสุดท้าย" ในการฟื้นฟูกิจการ

นั่นจึงเป็นที่มาของการเสนอ 3 ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อโดยไม่ให้ล้มละลาย โดย คนร. เสนอให้กู้เงินประมาณ 5.47 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2563 โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องเพื่อไม่ให้การบินไทยต้องล้มละลาย หลังจากนั้นก็เพิ่มทุนประมาณ 8.34 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2563 เพื่อจ่ายคืนเงินดังกล่าว ซึ่งแนวทางนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นการ "ตำน้ำพริกละลายท้องฟ้า" เพราะแนวทางนี้ไม่ได้การันตีว่าจะใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่ และจะทำให้การบินไทยรอดพ้นปากเหวนี้ได้หรือไม่
  2. ให้เข้าสู่สถานะการล้มละลาย ตามแนวทางนี้จะนำไปสู่การยุติการดำเนินธุรกิจ ปล่อยเจ้าหนี้ฟ้องศาล หากว่าศาลตัดสินให้ล้มละลายก็ต้องขายทรัพย์สินทอดตลาดแล้วแบ่งให้เจ้าหนี้ตามลำดับต่าง ๆ
  3. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยศาลล้มละลาย ตามกระบวนการนี้จะเปิดทางให้มีคณะทำงาน ผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ และอาจจะทำให้การบินไทยสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกได้อย่างเหมาะสม รวมไปจนถึงการหาผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการได้

ในที่สุด ครม. ก็เลือกแนวทางที่ 3 เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการบินไทย ที่อยู่ในธุรกิจมาถึง 60 ปี มีภาระหนี้สิ้นล้นพ้นตัว มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันหลายปี และจะขาดทุนเพิ่มขึ้นในปีนี้ในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19

ผลประกอบการการบินไทยย้อนหลัง
ปี 2558 2559 2560 2561 2562
รายได้รวม (ล้านบาท) 192,591.32 181,446.21 190,534.63 200,585.94 188,954.45
กำไร/ขาดทุนสุทธิ (ล้านบาท) -13,067.00 15.14 -2,107.35 -11,625.17 -12,042.41

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หนี้สินมากกว่าทุนเกือบ 21 เท่า

หากพิจารณาถึงสินทรัพย์และหนี้สิ้นแล้ว ในงบการเงินปี 2562 ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การบินไทยมีสินทรัพย์รวม 2.57 แสนล้านบาท มีหนี้สินรวม 2.45 แสนล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1.18 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนของหนี้สินต่อทุนคือเกือบ 21 เท่า

EPA

หนี้สินของการบินไทยมีอะไรบ้าง

ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2562

  • 1. หนี้สินหมุนเวียน 62,636 ล้านบาท

  • 2. หนี้สินระยะยาวจากหุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท

  • 3. หนี้สินระยะยาวภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน46,456 ล้านบาท

  • 4. หนี้สินจากเงินกู้ยืมระยะยาว 23,288 ล้านบาท

  • 5. หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 38,411 ล้านบาท

ที่มา : บมจ. การบินไทย

ในปี 2562 การบินไทยทำรายได้รวม 1.84 แสนล้าน แต่ก็ยังขาดทุนสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท ส่วนผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทได้ยื่นขอเลื่อนส่งงบการเงินออกไปเป็นวันที่ 14 ส.ค. จากเดิมที่่ต้องส่งภายในระยะเวลา 45 วันนับจากวันปิดงบประมาณไตรมาสแรกในวันที่ 31 มี.ค. เนื่องจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ยังไม่รู้ตัวเลขที่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายก็คาดว่า ผลการคาดทุนทั้งปี 2563 ต้องไปถึง 2 หมื่นล้านบาท

ราชการ การเมือง สร้างเรื่องให้

นายชูกอร์ ยูซอฟ แห่ง Endau Analytics บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินในสิงคโปร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า "การเมือง" เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้การบินไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดและมีประสิทธิภาพน้อยกว่าสายการบินคู่แข่ง

นายยูซอฟมองว่า ฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองมีอิทธิพลต่อการดำเนินการของการบินไทยมาอย่างยาวนาน ในการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อเครื่องบิน การเลือกเส้นทางบิน เป็นต้น ทำให้อำนาจในการบริหารของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรอ่อนแอ

ในรายงานประจำปีของการบินไทย ปี 2562 ระบุในตอนหนึ่งถึงข้อจำกัดในการเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยว่า "กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินถือหุ้นในการบินไทย คิดเป็นสัดส่วน 53.16% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทำให้บริษัทมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ อันมีผลต่อบริษัทในการทำธุรกรรมบางประเภท ได้แก่

  1. บริษัท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการลงทุนขนาดใหญ่
  2. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงินของการบินไทย

ขณะที่ส่วนการวิเคราะห์ความเสี่ยงองค์กรของการบินไทยก็ระบุในรายงานประจำปี 2562 ว่า กระทรวงการคลังสามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งกรรมการ หรือการขอมติในเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น (ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทกำหนด)

2 กระทรวง 2 พรรค

มาถึงยุคของรัฐบาลผสมอายุไม่ถึง 1 ปี ของอดีตผู้นำรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ภาพความไม่ลงรอยทางความคิดระหว่างกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย และกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบินไทย ในการแก้ปัญหาของสายการบินแห่งชาติ ก็ถูกสะท้อนผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายครั้ง เช่น ความเห็นแย้งต่อแผนฟื้นฟูกิจการและเรื่องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

แม้การประชุม คนร. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานเมื่อ 18 พ.ค. และ มติ ครม. เมื่อ 19 พ.ค. ไฟเขียวให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายแล้วนั้น การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองระหว่าง 2 กระทรวงจาก 2 พรรคการเมือง ยังมีให้เห็นผ่านสื่อ โดยเฉพาะประเด็นการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ให้ข่าวสื่อมวลชนเมื่อ 20 พ.ค.ว่าเตรียมเสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ไม่น้อยกว่า 30 รายชื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 25 พ.ค. นี้

หนึ่งวันต่อมา นายศักดิ์สยามและนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แห่งพรรคพลังประชารัฐ ก็มาพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรหลัง ครม. ให้การบินไทยเดินทางเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

นายวิษณุกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่า จากนี้ไป กระทรวงการคลังต้องขายหุ้นในการบินไทยเพื่อลดสัดส่วนหุ้นลง ให้การบินไทยหลุดจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทมหาชน จากนั้นบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ที่เกิดจากสัดส่วนการขายหุ้นของกระทรวงการคลังจะไปจัดการกันเอง เพื่อตัดสินใจเข้าสู่แผนฟื้นฟู และเสนอแผนฟื้นฟู ส่วนการเสนอตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดทำแผน กระทรวงการคลังสามารถเสนอชื่อได้ เนื่องจากยังถือหุ้นใหญ่อยู่

ดึงมืออาชีพบริหาร ปลอดการเมือง

นายยูซอฟมองว่าการยอมขายหุ้นของกระทรวงการคลังถือเป็นสัญญาณที่สำคัญและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการบินไทย ที่รัฐบาลมีเจตจำนงในการถอยออกไป ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารโดยปราศจากการแทรกแซง

"แม้ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ได้ถือหุ้นในการบินไทย 51% อีกต่อไปแล้ว แต่หุ้นดังกล่าวยังมีแนวโน้มถูกถือครองโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่ง ก็สามารถมีอิทธิพลและเป็นแรงกดดันให้ต่อการบินไทยอีก แต่ประเด็นนี้สามารถทำให้ลดลงได้ หากว่ารัฐบาลกำหนดกฎระเบียบป้องกันไว้" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านการบินรายนี้เชื่อว่า หลังจากได้คณะกรรมการบริหารมืออาชีพด้านการบินแล้ว การบินไทยควรถูกปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาดและอุตสาหกรรมการบิน

ฟื้นฟูกิจการอย่างไร

มติ ครม. 19 พ.ค. ถือเป็นการนับหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย

นายศักดิ์สยาม กล่าวในแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า ในการนำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนการบินไทยจะใช้ระยะเวลาอยู่ในแผนฟื้นฟูกี่ปีนั้น จะต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีสถานการณ์การระบาดของโควิก-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการบินด้วย

รมว. คมนาคมอธิบายถึง 10 ขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวดังนี้

  1. กระทรวงการคลังจะต้องปฏิบัติตามมติครม. ด้วยการลดการถือหุ้นในการบินไทยลงราว 3% จากเดิม 51.03% มาเป็น 48.03% โดยมีรายงานว่าจะให้กองทุนวายุภักษ์หนึ่งเข้าซื้อหุ้นการบินไทยจำนวน 3.17% เพื่อทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
  2. การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาลล้มละลายกลาง ในขณะเดียวกันกันการบินไทยจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้
  3. เมื่อศาลฯ รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 และจะเกิดการพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ (Automatic Stay) ซึ่งในประเด็นนี้ นายวิชา มหาคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ได้อธิบายบนเฟซบุ๊ก "Professor Vicha Mahakun" เมื่อ 14 พ.ค.ว่า "เจ้าหนี้จะฟ้องร้องหรือบังคับคดีไม่ได้ และถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ผู้ร้องเสนอมา ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ"
  4. ส่งหมายให้เจ้าหนี้
  5. นัดประชุมเจ้าหนี้ โดยเสียงข้างมากในที่ประชุมจะเป็นผู้อนุมัติผู้ทำแผน
  6. ศาลตั้งผู้ทำแผน และผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ
  7. ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ
  8. ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ อาจจะมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการไปด้วย
  9. ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูและแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
  10. เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ได้รับการเห็นชอบจากศาล

"การบินไทยควรจะใช้โอกาสนี้เลือกมืออาชีพ อาจจะเป็นคนไทยหรือผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคนี้ เพื่อร่างแผนฟื้นฟูกิจการอย่างรวดเร็ว ก่อนอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง" นายยูซอฟ แห่ง Endau Analytics บอกกับบีบีซีไทย

คลื่นลมที่ต้องฟันฝ่า

โดยทั่วไป การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในระหว่างทางมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญและนำมาคำนวณในแผนธุรกิจ ทั้งความน่าเชื่อถือขององค์กร และระยะเวลาการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งความสำเร็จ

ไม่กี่ชั่วโมงหลัง ครม. มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง ทริสเรทติ้ง องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทได้ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ การบินไทยมาเป็นระดับ "C" จากระดับ "BBB" (ซึ่งถูกปรับลดลงก่อนหน้าภายหลัง คนร. มีมติเสนอ ครม.พิจารณาการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ของการบินไทยภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย) และยังคง "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" โดยอันดับเครดิตที่ถูกปรับลดลงสะท้อนความคาดการณ์ที่บริษัทจะพักชำระหนี้ ที่อนุมัติให้บริษัทการบินไทยยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

เมื่อศาลล้มละลายกลางรับพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการจะส่งผลให้บริษัทการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางโดยบริษัทจะพักชำระหนี้ อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการปรับลดลงสู่ระดับ "D" หรือ "Default"

ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สั่งติดตามการซื้อขายหุ้น บมจ.การบินไทย อย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟู ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่ราคาหุ้น บมจ.การบินไทย ปรับตัวขึ้นชนเพดานถึง 8 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามดูหุ้นที่มีความผันผวนในราคาและปริมาณการซื้อขาย ที่เคลื่อนไหวผิดปกติอยู่แล้ว ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยหากพบความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวรายงานข้อมูลทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เขายังฝากถึงนักลงทุน กรณีการลงทุนในหุ้นที่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนฟื้นฟู จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบแนวทางแก้ปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากความไม่ชัดเจนขณะนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งมีเพียง 23 บริษัทที่ฟื้นฟูสำเร็จ

ในแง่ของความสำเร็จนั้น นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่มีเพียงบริษัทจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ โดย บล.ทิสโก้ ได้ออกบทวิเคราะห์และคำเตือนการลงทุนในบริษัทที่ขอฟื้นฟูกิจการ ระบุว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ถึงแม้จะเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น

ทิสโก้รวบรวมข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ว่า มีจำนวนกว่า 52 บริษัท แต่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จเพียง 23 บริษัท ใช้เวลาในการฟื้นฟูเฉลี่ย 7 ปี (ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP หรือห้ามซื้อขายหุ้นยาวนานสูงสุด 18 ปีและสั้นที่สุด 1 ปี) จึงแนะนำให้นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

AFP/Getty Images

มี บมจ. กี่รายที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

  • 1. ยื่นฟื้นฟูกิจการทั้งหมด 52 ราย

  • 2. ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ/ถูกเพิกถอนออกจากตลาด 20 ราย

  • 3. ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 ราย

  • 4. ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ 23 ราย

  • ภาพรวมใช้เวลาฟื้นฟูกิจการเฉลี่ย 7 ปี

ที่มา : บล. ทิสโก้

การบินไทยจะสามารถกลับมาให้บริการได้หรือไม่

ถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การบินไทยจะกลับมาให้บริการอีกครั้งเมื่อไหร่ จากแถลงการณ์ของบริษัทเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า การบินไทยขยายเวลาหยุดทำการบินชั่วคราวในเดือน มิ.ย. 2563 อีก 1 เดือน

ส่วนในเดือน ก.ค. บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินสถานการณ์ เพื่อกลับมาทำการบินทันทีเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

ส่วนผลจากการที่ ครม.มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น การบินไทยชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ ยังคงประกอบธุรกิจตามปกติแม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

Let's block ads! (Why?)



"กระบวนการ" - Google News
May 22, 2020 at 01:06PM
https://ift.tt/2WR2IMS

การบินไทย : สายการบินแห่งชาติต้อง "บิน" ผ่านอะไรบ้างในการฟื้นฟูกิจการ - บีบีซีไทย
"กระบวนการ" - Google News
https://ift.tt/2Le1u7K
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2WCZ5cb

Bagikan Berita Ini

Related Posts :

0 Response to "การบินไทย : สายการบินแห่งชาติต้อง "บิน" ผ่านอะไรบ้างในการฟื้นฟูกิจการ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.