ข้อเรียกร้อง 10 ประการให้แก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ที่นักศึกษาหญิงตัวแทนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ประกาศบนเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในเวลาสามทุ่มของ 10 ส.ค. ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "ไม่สบายใจ" และส่งคำเตือนไปยังเยาวชนว่า "ถ้าละเมิดทุกคนก็ต้องถูกลงโทษ"
ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงกับบอกว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษานั้น "อันตรายต่อประเทศ" และ "เป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง"
ทางด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอนุญาตให้นักศึกษาใช้สถานที่ในการจัดชุมนุมออกแถลงการณ์ "แสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" พร้อมทั้งประกาศจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีกับบุคคลที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะดำเนินการกับนักศึกษา มธ. ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยด้วย
ผลจากข้อเรียกร้องนั้นยังทำให้สื่อมวลชนบางส่วนตั้งคำถามถึงบทบาทและถามหาแนวทางการเสนอข่าวในประเด็นที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ
หลังจากที่ตลอดทั้งวันนี้มีหลายฝ่ายแสดงปฏิกิริยาต่อข้อเรียกร้องและกิจกรรมที่ มธ. ล่าสุดช่วงค่ำวันนี้ เฟซบุ๊ก "ธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ได้ประกาศยกเลิกนัดหมายการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (12 ส.ค.) ที่สวนลุมพินีตามที่ประกาศไว้โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากมีรายงานว่าอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาก่อความไม่สงบ" แต่ยังเชิญชวนให้ประชาชนติดตามกิจกรรม เพราะพวกเขามี "เซอร์ไพรส์"
ก่อนจะถึงเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน"
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดงาน "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ในวันที่ 10 ส.ค. ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. นับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสแฟลชม็อบเยาวชนที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยหลายกลุ่ม หลายสถานที่นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.
แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนขึ้นปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยตั้งคำถามถึงขอบเขตพระราชอำนาจ การใช้งบประมาณการจัดการกำลังพลและทรัพย์สินในการชุมนุมที่จัดโดยนักศึกษากลุ่ม "มหานครเพื่อประชาธิปไตย" และ "มอกะเสด" เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
หลังจากนั้นในวันที่ 7 ส.ค. นายอานนท์และนายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยถูกจับกุมตามหมายจับในหลายข้อหาซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดต่อเนื่องตลอดสุดสัปดาห์เนื่องจากประชาชนและเยาวชนพากันไปชุมนุมกดดันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งสองคนทั้งที่ สน. บางเขน, สน. ห้วยขวาง, ศาลอาญาและสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ก่อนที่ศาลจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ช่วงเย็นวันที่ 8 ส.ค. โดยมีเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำผิดตามข้อกล่าวหาเดิม
วันที่ 9 ส.ค. นายอานนท์เดินทางไปร่วมกิจกรรมชุมนุมที่จัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ และขึ้นปราศรัยครั้งแรกหลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง
นายอานนท์ประกาศทางเฟซบุ๊กด้วยว่าเขาจะขึ้นเวทีปราศรัยในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้งที่งานชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ มธ.ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค.
เกิดอะไรขึ้นที่เวที มธ.ศูนย์รังสิต
กิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" จัดโดยนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 17.00 น. ผู้คนทยอยมารวมตัวกันที่ลานพญานาคและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มลาน ตำรวจ สภ.คลองหลวงประเมินว่ามีผู้มาชุมนุมราว 2,500 คน แต่ผู้จัดเชื่อว่ามีหลายพันคนหรืออาจจะถึงหมื่นคน
การจัดการเป็นไปอย่างเป็นระบบ มีทั้งหน่วยพยาบาลมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้ร่วมงาน มีรถพยาบาลและหน่วยกู้ชีพมาประจำการหลายสิบคน ห้องสุขาเคลื่อนที่ติดแอร์มาจอดให้บริการ ในส่วนของเวทีมีระบบแสงสีเสียงสมบูรณ์แบบ
บรรยากาศการชุมนุม โปสเตอร์เรียกร้องความยุติธรรมให้นักกิจกรรมที่ถูกบังคับให้สูญหาย และการย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง—ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน—ดูไม่ต่างไปจากการชุมนุมของนักศึกษาที่ผ่านมา โดยการปราศรัยของ "ทนายอานนท์" ถูกประชาสัมพันธ์ให้เป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งเขาได้ขยายความประเด็นข้อเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์ และย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องพูดถึงได้ในที่สาธารณะและคนที่พูดเรื่องนี้จะต้องไม่ถูกคุกคาม
หลังจากนายอานนท์ปราศรัยจบ ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาทั้งจาก มธ. และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ก็ได้พบกับอีกไฮไลต์หนึ่งของงานนั่นคือการเปิดคลิปวิดีโอที่นายปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย พูดกับผู้ชุมนุม โดยเขาสนับสนุนเรื่องการพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์แบบ "ไม่จาบจ้วง" และแนะนำให้ผู้ชุมนุมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
โดยที่หลายคนไม่คาดคิด ก่อนจะปิดเวทีในเวลาประมาณ 21.00 น. น.ส.ปทัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มธ. และตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ขึ้นเวทีและอ่าน "ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" ความยาว 2 หน้ากระดาษ ซึ่งระบุถึงสิ่งที่แนวร่วมฯ มองว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้มีการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
น.ส.ปทัสยาปิดท้ายด้วยการนัดหมายชุมนุมอีกครั้งที่สวนลุมพินีในวันที่ 12 ส.ค. ก่อนที่ทีมงานจะโปรยกระดาษที่พิมพ์ข้อเรียกร้อง 10 ประการนั้นปลิวกระจายกลางฝูงชน
ปฏิกิริยาจากนายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์ถูกสื่อมวลชนถามถึงการชุมนุมของนักศึกษาที่ มธ.และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งนายกฯ บอกว่าได้ติดตามการชุมนุมของนักศึกษา มธ. และ "รู้สึกไม่สบายใจ"
ระหว่างเป็นประธานกิจกรรมจิตอาสา "ปันสุข ปลูกรัก" ที่สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด นายกฯ ได้พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ว่าหลายคนเติบโตในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่เข้าใจความเป็นมาพื้นฐานประเทศไทย และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและครูให้ช่วยสร้างการเรียนรู้ในเรื่องนี้แก่เด็ก
"สิ่งที่ไม่ควรบังคับกันคือ การทำความดีเพื่อชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจคนไทยทุกคน...ไปบังคับใครไม่ได้เพราะเป็นส่วนที่มาจากใจของทุกคน ทุกอย่างต้องทำจากหัวใจ ทำความดีด้วยหัวใจ ไม่ต้องให้ใครบังคับเราคือคนไทย เราเป็นคนไทยอยู่ในพื้นแผ่นดินไทยที่เรารักหวงแหน มีบรรพบุรุษ มีสถาบันที่สร้างให้พวกเรา ดังนั้น เราจะต้องสืบสานต่อไปในอนาคต" นายกฯ กล่าว
เขาบอกด้วยว่าการชุมนุมเป็นสิทธิ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมาก ๆ เหมาะสมหรือไม่
"การทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรกฎหมายอยู่ตรงไหน แล้วอย่าบอกว่าเอากฎหมายไปกดทับ มันไม่ใช่ เพราะถ้าละเมิดทุกคนก็ต้องถูกลงโทษ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็เสียหาย เจ้าหน้าที่ก็เสียหายไม่ทำงานก็ถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร เพราะฉะนั้นสถาบันต่าง ๆ ต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบกันบ้าง" นายกฯ กล่าวและบอกว่านักศึกษาจะชุมนุมที่ไหนอีกก็ตาม "ถ้าผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมาย"
รมว.ศึกษาว่าอย่างไร
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอีกหนึ่งคนในรัฐบาลที่ให้ความเห็นต่อข้อเรียกร้องจากที่ชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน
"แต่จากการติดตามข่าว เท่าที่ดูคำพูดเป็นเรื่องน่ากังวล ผมคิดว่าคนไทยแสดงความเห็นได้ แต่การแสดงความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยก หรือตั้งใจทำลายสถาบันหลักของประเทศ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม" นายณัฏฐพลกล่าว
เขาบอกว่าขณะนี้ประเทศกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงต้องการให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ แต่การชุมนุมทางการเมืองทำให้นักลงทุนไม่มา
"วันนี้กลับมาสร้างความกังวลให้เขาไม่กล้ากลับมา เพราะอาจหวาดระแวง ว่าจะมีการปะทะกันหรือไม่ หรืออาจจะมีความไม่สงบอย่างที่เขาคาดการณ์ไม่ได้ ถือเป็นการทำร้ายประเทศ แม้เป็นสิทธิ์แต่ละคนผมก็เข้าใจ แต่อยากให้คนไทยร่วมกันหาทางออกในทางที่เหมาะสมของช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ยอมรับว่าห้ามทุกคนไม่ได้ อาจมีแกนนำที่ตั้งใจอะไรบางอย่าง"
"จากข้อเรียกร้องที่ผมติดตามมา มันน่าอันตรายสำหรับประเทศ เป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง" นายณัฏฐพลกล่าว
รมว.ศึกษาเชื่อว่าผู้ชุมนุมบางส่วนไม่รู้ล่วงหน้าว่าแกนนำหรือผู้ปราศรัยจะมีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาบอกว่าบางคนอาจเพียงอยากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่กลับมาเจอกันแสดงออกในลักษณะล้มล้างสถาบันหลักของประเทศก็ตกใจ
ผู้บริหาร มธ. ขอโทษ-น้อมรับผิด
ไม่นานหลังกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทนยุติลง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต โพสต์คำชี้แจงเรื่องการชุมนุมที่ลานพญานาคทางเฟซบุ๊กว่านักศึกษาผู้จัดการชุมนุมได้ขออนุญาตใช้สถานที่โดยแจ้งว่า "เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ" ไม่ได้มีการแจ้งว่าจะมีการปราศรัยหรือแสดงออกในประเด็นเรื่องอื่น
นายปริญญากล่าวว่าเขาอนุญาตให้ใช้สถานที่โดยมีเงื่อนไขว่าการชุมนุมจะอยู่ในขอบเขตของประเด็นทั้ง 3 ประเด็นเท่านั้น หากว่ามีคนที่ปราศรัยในประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือผิดกฎหมาย คนพูดก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าหากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.คลองหลวงที่มาดูแลความเรียบร้อยจะใช้วิธีการพูดคุยเจรจา
แต่ในการชุมนุมกลับมีผู้ปราศัยบางคน "มีการปราศรัยในทางที่จะเป็นปัญหาได้"
"ผมขอเรียนว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม และแม้ว่าเนื้อหาหลักของการชุมนุมจะเป็นไปตามขอบเขตดังกล่าว แต่เมื่อปรากฎเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะเลยขอบเขตไป ผมในฐานะรองอธิการบดีผู้อนุญาตผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น" นายปริญญาระบุ
ต่อจากนั้น ในช่วงเย็นวันนี้ (11 ส.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. ระบุว่าการชุมนุมดังกล่าว "มีการแสดงออกนอกเหนือขอบเขตที่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการตามมาตรการภายใต้บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย" กล่าวคือ
- กระบวนการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุคคลที่มิใช่นักศึกษา มธ. เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ มหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
- มธ. จะดำเนินการกับนึกศึกษา มธ. ที่แสดงออกไม่เหมาะสม ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นธรรมตามข้อเท็จจริง
- มธ. จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
"สุดท้ายนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอแสดงจุดยืนว่ามหาวิทยาลัยฯ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข และสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายของราชอาณาจักรไทย" แถลงการณ์ มธ. ระบุ
"ได้รับ" - Google News
August 11, 2020 at 09:47PM
https://ift.tt/33JPjKy
ธรรมศาสตร์จะไม่ทน: "อันตรายต่อประเทศ-เกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต" บางปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องจากเวที มธ. - บีบีซีไทย
"ได้รับ" - Google News
https://ift.tt/3ef9hjd
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2WCZ5cb
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน: "อันตรายต่อประเทศ-เกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต" บางปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องจากเวที มธ. - บีบีซีไทย"
Post a Comment